การเลือกไวโอลินและคันชัก
การเลือกไวโอลินสำหรับนักเรียน และผู้เริ่มหัดเบื้องต้น
       สำหรับไวโอลินตัวแรกของเด็กเล็ก เด็กโต  หรือของผู้ใหญ่ ควรเลือกซื้อจากร้านที่เซ็ทอัพมาให้ทุกอย่างพร้อม ทั้งการเซทอับให้เล่นง่ายเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น กดสายไวโอลินไม่เจ็บนิ้ว  ใช้เรียนได้อย่างสบายใจ  ส่วนเรื่องเสียงยังไม่ต้องเน้น  ควรดูเรื่องวัสดุ  มีมาตรฐานพอควร  และดูที่ลูกบิดว่าหมุนติดอยู่กับตัวไวโอลินหรือไม่ เพราะถ้าหลวม ควรนำไปแก้ไขก่อนใช้เรียน ก็จะไม่มีปัญหาในการตั้งเสียง ทำให้สามารถจำโน้ตเสียงที่ถูกต้องได้  แม้เสียงไม่ถูกใจนักก็ควรเลือกใช้ฝึกไปก่อน เมื่อเล่นเป็นนักเรียนสมารถเลือกเสียงไวโอลินที่ถูกใจได้













การเลือกไวโอลินเกรดดี มี 4 ขั้นตอน ที่ควรนำไปใช้ในการประเมินคุณภาพไวโอลินที่ได้มาตรฐานได้รับการเซ็ทอัพมาในระดับหนึ่งแล้ว มีข้อสังเกตุในการคัดเลือกดังนี้
          1. สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ
พื้นเสียงของไวโอลิน ซึ่งหมายถึง ว่ามีเสียงแหลม หรือ นุ่มนวล รื่นหู หรือ เสียงหวาน ฯลฯ ทดสอบได้โดยการเล่น สเกลหรือ บทเพลงสั้น ๆ โดยไม่ใช้ วิบราโต้ (Vibrato) และให้เล่นโดยใช้คันชัก ที่มีคุณภาพดีที่สุดที่มีใช้เป็นของตนเอง จับจ้องที่สุ้มเสียงที่เกิดขึ้น ความชัดเจนของเสียง และความดังกังวาน การตอบสนองที่รวดเร็วต่อการสี โดยทดสอบที่ละสาย อย่างไรก็ตามคำจำกัดความว่า เสียงดี นั้นเป็นความชอบเฉพาะบุคคล นอกจากนี้แล้วยังต้องสังเกตถึงความสม่ำเสมอ มีสมดุลของสายทุกสายว่าต้องเท่ากันด้วย หากไม่ชอบน้ำเสียงตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องทดสอบอีก แสดงว่าไวโอลินตัวนี้เราไม่ชอบแน่นอนแล้ว ตัดออกไปจากตัวเลือกได้เลย
          หากผู้ทดสอบมีทักษะสูงพอ ก็ควรใช้ความสามารถนั้นเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของไวโอลินในเรื่องของพลังเสียง และระดับความพอใจของเสียง เช่น เล่นเสียงเบา หนักปานกลาง หนักมาก เพราะไวโอลินบางตัว เสียงดังอย่างเดียว เล่นเสียงเบาไม่ค่อยได้ หรือเล่นเสียงเบาได้ดี แต่เล่นเสียดังไม่ได้ดี ฯลฯ เป็นต้น ทดลองสีอีกครั้งโดยการเล่น สเกลหรือ บทเพลงสั้น ๆ โดยไม่ใช้ วิบราโต้ คอยสังเกตให้ดีในเรื่องของ เสียงหนักดัง เสียงเบานุ่มนวล เสียงที่สดใสชัดเจน ความน่าฟังของเสียงที่ได้ต้อง มีความกระชับหนักแน่นด้วย เช่นในส่วนของสายจี หลังจากนั้นก็ทดสอบดูว่าเมื่อสีให้มีเสียงสดใส นั้นเสียงที่ได้มีความคมชัดเจนมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในส่วนของสายอี สังเกตว่าในขณะสีเน้นเสียงหนัก เสียงเบานั้น มีเสียงระคาย ไม่สดใส ไม่คมชัดบ้างหรือไม่ เพราะคุณสมบัติที่ดีของไวโอลินในการทดสอบนี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะการเล่นของผู้เล่นได้เป็นอย่างดี ในขั้นตอนนี้การทดสอบอาจไม่ได้ผลเต็มที่หากว่า คุณภาพของคันชัก ด้อยกว่าคุณภาพของไวโอลินมากเกินไป ต้องใช้ของที่มีคุณภาพสมกันจึงจะเห็นประสิทธิภาพได้ชัดเจน ยกตัวอย่างว่า พยายามอย่าใช้คันชักระดับนักเรียนไปใช้ทดสอบไวโอลินระดับอาชีพ เป็นต้น ผลการทดสอบจะบิดเบือนจากความเป็นจริง
          2. หากผู้ทดสอบมีทักษะในการเล่นที่ดีขึ้นไปอีกเช่น
การใช้เทคนิคมือขวาดี การกดนิ้วดี การเปลี่ยนโพสิชั่นมีความคล่องแคล่วดี ก็จะสามารถรู้ถึงระดับพลังเสียงว่า ได้ยินดังฟังชัดไปไกลมากน้อยเพียงใด สามารถทดสอบได้โดยการทดสอบเล่นบันไดเสียง สูงต่ำแบบหลากหลายบนสายแต่ละสาย โดยใช้เทคนิคมือขวาหลาย ๆ เทคนิคเข้าไปทดสอบด้วย ในขณะที่ทดสอบนั้นให้สังเกต ว่ามีการตอบสนองที่รวดเร็วดีหรือไม่ ระดับเสียงสูงในแต่ละสายมีพลัง มีความคม ชัดเจน แน่นกระชับ ไม่มีเสียงแกรกกรากจนไม่น่าฟังเมื่อเล่นตัวโน๊ตที่ใช้เสียงสูงในแต่ละสาย สามารถเล่นในที่กว้าง หรือที่ ๆ มีเสียงสะท้อนหรือเสียงก้อง ฯลฯ ได้ค่อนข้างดี หรือดีโดยไม่เป็นปัญหามาก
          3. เมื่อไวโอลินผ่านการทดสอบสามข้อแรกไปแล้ว จึงค่อยเล่นและเปรียบเทียบ
จุดดีจุดด้อยกับไวโอลินตัวเดิมที่มีอยู่ด้วย เพราะเหตุผลหลักในการเปลี่ยนไปใช้ไวโอลินที่ดีขึ้นนั้นมีเหตุผลที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือ ทักษะในการเล่นได้พัฒนาไปไกลมากแล้วจนรู้สึกได้ว่า ประสิทธิภาพของไวโอลินตัวเดิมที่เคยเล่นนั้นด้อยไปเสียแล้ว เช่น การตอบสนองได้ไม่ดีเมื่อใช้เทคนิคการเล่นบางประเภท ทำให้เล่นยาก ไม่สามารถเล่นเพลงที่ต้องสร้างสีสันของเสียงที่หลากหลายได้ดี ฯลฯ เป็นต้น ลองทดสอบเปรียบดูกับไวโอลินเดิมหลายครั้งให้แน่ใจ จะได้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องในที่สุด
          4. สุดท้ายการทดลองไวโอลินของนักเล่นก็คือ
การทดลองประสิทธิภาพของไวโอลินด้วยการลองเล่นเพลงและเล่นสเกล แต่ไม่รวมถึงการทดลองแบบอื่น ๆ เช่นโดยการใช้ข้อนิ้วเคาะไม้แผ่นหน้าและแผ่นหลังของไวโอลินเพื่อฟังเสียงไม้ฝั่งเสียงต่ำและเสียงสูงเพราะเสียงมันก็ต่างกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าไปเคาะไวโอลินเก่า ๆ อาจไม่ดีต่อวานิชได้ วิธีเช่นนี้ควรยกไว้เป็นเรื่องของช่างทำไวโอลินระดับอาชีพจะดีที่สุด

วิธีการเลือกคันชัก
คันชักที่มาเป็นชุดของไวโอลินเกรดนักเรียนพยายามเลือกแบบที่ไม้คันชักมีความงอน ไม้คันชักไม่บิดซ้ายหรือบิดขวา หรือไม้อ่อนจนเกินไปได้มาตรฐาน
คันชักที่มีมาตรฐานดีนั้นฝรั่งเขาแนะนำว่าการทดสอบคันชักมีสี่ขั้นตอนสามารถนำไปใช้ได้ดังนี้
          1.ไม่ว่าผู้เล่นอยู่ในระดับใด ควรคำนึงเสมอว่าเราต้องมีความพอใจ ในเสียงของไวโอลินเวลาใช้คันชักนั้นเล่น (หาคันชักคุณภาพดีใช้ ก่อนซื้อไวโอลินที่ดีขึ้นกว่าตัวเดิมอาจเป็นทางเลือกที่ดี เพราะทำให้ไวโอลินตัวเก่าของเราเสียงดีขึ้น นอกจากนี้คันชักที่มีคุณภาพดีมากก็ยังมีราคาไม่สูงเท่าการเปลี่ยนไวโอลินตัวใหม่) การทดลองเล่นสเกลต่าง ๆ โดยไม่ใช้เทคนิควิบราโต้ ขณะทดสอบให้จดจ่ออยู่กับสุ้มเสียง เสียงมีความคมชัด กลมกลืนตลอดหัวจรดปลายคันชัก คันชักกินสายหรือไม่ เล่นง่ายหรือไม่ คันชักที่ซื้อควรมีประสิทธิภาพของข้อแรกนี้ ถ้าคันชักไม่ผ่านการทดสอบในขั้นแรก ก็ไม่ต้องพิจารณาสิ่งอืน
          2.หากผู้เล่นมีความสามารถในระดับที่สูงขึ้นในการใช้คันชักต้องพิจารณาน้ำเสียง และ ความดังว่าระยะห่างที่จะได้ยินเสียงอยู่ใกล้ ไกล เพียงใด ทดสอบโดยใช้เทคนิควิบราโต้แบบสั้น แบบยาว ทดลองเล่นให้เสียงดังและเสียงเบาโดยไม่ให้ได้ยินเสียงเสียดสีของสายและหางม้าแทรกให้ได้ยิน ทดลองลากคันชักลงโดยใช้เทคนิค เครสเซนโดส์-Crescendos ตลอดความยาวของหางม้าไปจนถึงปลายคันชัก
          3.หากความสามารถในการใช้เทคนิคมือขวามีมาก ก็ต้องทำการทดสอบการเล่นโดยใช้เทคนิค Spiccato, Staccato, Ricochet ซึ่งเป็นเทคนิคการสีให้คันชักคล้ายมีสปริงและดีดขึ้นมาจากสายเป็นจังหวะ ให้สังเกตุความยากง่ายว่าสามารถควบคุมให้เป็นไปตามต้องการได้ดีขึ้นกว่าการใช้คันชักเดิมหรือไม่ และให้เสียงที่คมชัดหรือไม่ มีการตอบสนองดีมากน้อยแค่ไหน มีเสียงที่ไม่ใช่เสียงโน๊ตแทรกในระหว่างสีหรือไม่ เพราะคันชักที่ดี จะต้องทำเทคนิคเช่นที่ว่าได้ดี เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญของเทคนิคมือขวาให้มีสูงขึ้นไปอีก
          4.เมื่อคันชักนั้นผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายต้องนำมาเปรียบเทียบกับคันชักอันเดิมที่ใช้อยู่ว่าดีกว่าหรือไม่ อย่างไรบ้าง เช่น เสียงดีกว่า มีสปริงดีกว่า เล่นคล่องขึ้นและควบคุมง่ายกว่า การเทียบก็สามารถเทียบโดยการใช้การทดสอบเบื้องต้นมาเทียบ แล้วในที่สุดต้องมีความมั่นใจในการตัดสินใจว่า ต้องการหรือไม่